ทฤษฎีพันธะทางสังคมถูก นำเสนอขึ้นโดย Travis Hirschi ในปี ค.ศ.1969 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นทฤษฎีการควบคุมทางสังคม Hirschi มีสมมติฐานที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีแนวโน้มที่จะกระทำผิด บุคคลที่มีความผูกพันกับองค์กรหรือกลุ่มในสังคม ซึ่งได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน และเพื่อนฝูง มักจะมีแนวโน้มที่จะไม่ประกอบอาชญากรรม กล่าวคือ “ยิ่งระดับการควบคุมทางสังคมแข็งแกร่งขึ้นและเครือข่ายความผูกพันทางสังคมที่แน่นแฟ้นมากขึ้นเท่าใด ผู้คนก็มีแนวโน้มที่จะประพฤติตนตามกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น” Hirschi เรียกสิ่งนี้ว่า พันธะทางสังคม หรือ ความผูกพันทางสังคม
หลักการสำคัญของทฤษฎีนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ ความผูกพัน (Attachment), ข้อผูกมัด (Commitment), การมีส่วนร่วม (Involvement) และความเชื่อ (Belief)
- ความผูกพัน (Attachment) เป็นองค์ประกอบด้านความรักของพันธะ หรือสัญญาผูกมัดที่บุคคลมีต่อสังคม ซึ่งหมายถึง ความแข็งแกร่งของสายสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมของแต่ละบุคคล ซึ่งความสัมพันธ์กับผู้ปกครองมีความสำคัญเป็นพิเศษ แต่สถาบันอื่นๆ เช่น โรงเรียนหรือเพื่อนก็มีบทบาทเช่นกัน การที่บุคคลมีความผูกพันกับบุคคลอื่น มีความรู้สึกนึกคิดต่อครอบครัว ซึ่งความผูกพันนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้บุคคลยอมรับค่านิยม และบรรทัดฐานของสังคม ส่งผลให้บุคคลสร้างความรู้สึกที่จะควบคุมตนเองให้เป็นบุคคลที่ดีในสังคม
- ข้อผูกมัด (Commitment) การที่บุคคลผูกมัดกับเป้าหมายในชีวิตตามทำนองคลองธรรมของสังคม กล่าวคือ ได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลไม่อยากกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจาก จะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสียความสำเร็จในชีวิต ดังนัน ข้อผูกมัดจึงเป็นองค์ประกอบด้านความมีเหตุมีผลของพันธะที่บุคคลมีต่อสังคม ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ทุ่มเทเพื่อให้ได้เกรดที่ดีจะมีโอกาสถูกไล่ออกน้อยกว่านักเรียนที่เกียจคร้าน
- การมีส่วนร่วม (Involvement) หมายความว่า คนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม จะมีเวลาและโอกาสในการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนน้อยลง กิจกรรมที่มีโครงสร้างและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น โรงเรียน การทำงาน หรือการเลี้ยงลูก ยังช่วยเสริมสร้างการต่อต้านแรงกระตุ้นของพฤติกรรมเบี่ยงเบนการที่บุคคลได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนัน การมีส่วนร่วมจึงเป็นองค์ประกอบด้านกิจกรรมของพันธะหรือสัญญาผูกมัดที่บุคคลมีต่อสังคม
- ความเชื่อ (Belief) Hirschi มองว่าความเชื่อเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงความเชื่อและความถูกต้องของค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม ยิ่งค่านิยมและบรรทัดฐานเหล่านี้ถูกฝังไว้มากเท่าไร ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้นที่จะบุคคลละเมิดกฎหมาย ดังนันความเชื่อจึงเป็นองค์ประกอบด้านจริยธรรมของพันธะหรือสัญญาผูกมัดที่บุคคลมีต่อสังคม
การศึกษาที่สนันสนุนทฤษฎี
Parental Attachment ความผูกพันและการเลี้ยงดูของครอบครัว
ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม นำเสนอว่า สำหรับเด็กการควบคุมทางสังคมภายในครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกที่มีต่อพ่อแม่ จากการศึกษาพบว่า ยิ่งเด็กมีความผูกพันกับผู้ปกครองมากเท่าใด โอกาสของการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่กระทำผิดก็จะยิ่งต่ำลงเท่านั้น
ความผูกพันเป็นองค์ประกอบสำคัญของทฤษฎีการควบคุมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับความผูกพันของผู้ปกครอง การวิจัยว่า ความผูกพันของผู้ปกครองสามารถส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกิจกรรมทางอาญา ตัวอย่างการวิจัย
- Henrich และคณะ (2005) ได้สำรวจเยาวชน 7,033 คนจากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในอเมริกา 132 แห่ง การวิจัยพบว่า วัยรุ่นที่มีความรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่มาก มีโอกาสน้อยที่จะกระทำความผิดรุนแรงด้วยอาวุธ
- ในทำนองเดียวกัน Herrenkohl และคณะ (2003) พบว่าคนหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมรุนแรงน้อยกว่า มีแนวโน้มที่จะผูกพันกับพ่อแม่มากกว่า เป็นต้น ผลการศึกษาเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดของ Hirschi เกี่ยวกับบทบาทของความผูกพันของผู้ปกครองที่สามารถป้องกันเยาวชนจากการกระทำผิดทางอาญา
- การศึกษาของ Chapple (2003) ได้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่ที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ และการล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวที่สังเกตเห็นความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองมีระดับความผูกพันกับผู้ปกครองในระดับต่ำ มีแนวโน้มที่จะเป็นคนอารมณ์ร้อนและใช้ความรุนแรงกับคู่ครอง Chapple (2003) สรุปว่าการศึกษานี้สอดคล้องกับกแนวคิดทฤษฎีควบคุมที่ว่า “ความผูกพันและการผูกมัดของผู้ปกครองลดโอกาสที่การกระทำผิด”
School Attachment ความผูกพันในโรงเรียน
ทฤษฎีการควบคุมทางสังคมของ Hirschi มองว่า ความผูกพันของวัยรุ่นกับโรงเรียน ร่วมกับความผูกพันของผู้ปกครองนั้นเป็นวิธีการพื้นฐานในการสร้างการควบคุมทางสังคม มีการศึกษาจำนวนมากได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการควบคุมทางสังคมรวมถึงการวัดบทบาทของความผูกพันต่อโรงเรียน
- การศึกษาของ Sprott (2004) พบว่าคนหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมรุนแรงมักมาจากห้องเรียนที่ให้การสนับสนุนทางอารมณ์เพียงเล็กน้อยแก่นักเรียน ดังนั้น การสนับสนุนของโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการกระทำผิดที่รุนแรงในอนาคต
- การศึกษาของ Sprott และคณะ (2005) ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการค้นพบนี้ ผ่านการศึกษาเยาวชนชาวแคนาดา 1,956 คน ผู้เขียนพบว่า ผู้ที่มีความผูกพันกับโรงเรียนอย่างแนบแน่นนั้น มีการใช้ความรุนแรงน้อยกว่า
- Brookmeyer และคณะ (2006) ได้วิจัยเกี่ยวกับลักษณะของพฤติกรรมรุนแรง โดยศึกษาเยาวชน 6,397 คน จากกลุ่มตัวอย่างระดับประเทศ จากโรงเรียนในอเมริกา 125 แห่ง ข้อมูลซึ่งประกอบด้วยการสำรวจเยาวชนด้วยตนเองและการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เป็นไปได้ของผู้ปกครองและโรงเรียนในการป้องกันการล่วงละเมิดที่รุนแรงในหมู่คนหนุ่มสาว
- Resnick และคณะ (2004) พบข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า ความผูกพันในโรงเรียน ท่ามกลางปัจจัยควบคุมทางสังคมอื่นๆ สามารถปกป้องเยาวชนจากพฤติกรรมรุนแรงได้
- Herrenkohl และคณะ (2003) ศึกษาผลกระทบของทั้งปัจจัยป้องกันและปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงในวัยรุ่น ได้ทำการศึกษาข้อมูลระยะยาว จำนวน 808 คน เพื่อศึกษาช่วงเวลาต่างๆ ในช่วงวัยเด็ก ผู้วิจัยพบว่าเมื่อประเมินเยาวชน อายุ 18 ปี ผู้เขียนพบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงน้อยกว่าในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากกว่ากับพ่อแม่ มีแนวโน้มที่จะนับถือศาสนามากกว่า และมีแนวโน้มที่จะมีความผูกพันในโรงเรียนช่วงวัยรุ่นตอนกลาง จากการวิจัยสรุปได้ว่า ความผูกพันกับโรงเรียนของวัยรุ่นจะทำหน้าที่ป้องกันความรุนแรงของวัยรุ่นในภายหลัง กล่าวคือ เมื่อวัยรุ่นมีอายุมากขึ้น ความผูกพันในโรงเรียนจะมีส่งผลให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนน้อยลง
Role of Community บทความของสังคม
บทบาทของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงในฐานะตัวแทนของการควบคุมทางสังคม ยังได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของการควบคุมทางสังคม
- Banyard and Quartey (2006) ได้ศึกษาการล่วงละเมิดคู่ครองของวัยรุ่นในอังกฤษ ได้สำรวจคนหนุ่มสาว 980 คน ในเกรดเจ็ดถึงเกรดสิบสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลการละเมิดคู่ครองของวัยรุ่น การตกเป็นเหยื่อ ภูมิหลังของครอบครัว การเฝ้าติดตาม และการสนับสนุนในละแวกใกล้เคียง ผู้วิจัยพบว่า คนหนุ่มสาวที่ยอมรับการล่วงละเมิดทางเพศ หรือยอมรับการทำร้ายทางร่างกายของคู่นอน มีความผูกพักกับสังคมหรือการเฝ้าติดตามจากสังคมน้อย นอกจากนี้ พบว่าความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ลดลงนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเยาวชน บทบาทของชุมชนในการส่งเสริมค่านิยมและความเชื่อเชิงบรรทัดฐานเกี่ยวกับความรุนแรงมีความสำคัญกับการขัดเกลาเยาวชน
- Bernburg และ Thorlindsson (2005) สำรวจวัยรุ่นไอซ์แลนด์ 2,941 คน โดยพยายามประเมินผลกระทบของค่านิยมภายใน ภายนอก และการรับรู้ถึงบรรทัดฐานต่อการยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว จากการศึกษาพบว่า กลุ่มชุมชนที่ยอมรับบรรทัดฐานความรุนแรงมักจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติที่ก้าวร้าวของสมาชิกแต่ละคน โดยเฉพาะในเยาวชน
Religion บทบาทของศาสนา
แม้ว่าจะไม่ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางเท่ากับแง่มุมอื่นๆ ของการควบคุมทางสังคม แต่ผลกระทบของศาสนาที่มีต่อการกระทำผิดได้รับการประเมินโดยผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจแง่มุมนี้ของการควบคุมทางสังคม
- Johnson และคณะ (2001) ศึกษาเรื่องผลกระทบของศาสนาต่อการกระทำผิดของเยาวชน โดยตั้งคำถามว่า คนหนุ่มสาวที่นับถือศาสนามากกว่ามีความผิดน้อยกว่าหรือไม่ เหตุใดวัยรุ่นที่นับถือศาสนาจึงไม่มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ข้อมูลได้มาจาก National Youth Survey ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวระดับชาติเกี่ยวกับเยาวชนอเมริกัน ผู้วิจัยพบว่า ศาสนามีผลต่อการกระทำผิดน้อยลง ซึ่งรวมถึงระดับความรุนแรงด้วย กล่าวคือ ศาสนาส่งผลให้ลดการกระทำผิดได้ อันเนื่องมาจากผลกระทบของศาสนาที่มีต่อการสร้างความเชื่อ
- Benda and Turney (2002) พบว่า เยาวชนที่เคร่งศาสนาอาจไม่ค่อยมีแนวโน้มที่จะคบหาสมาคมกับเพื่อนที่กระทำผิด การวิจัยนี้ สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ศาสนาลดโอกาสเกิดการกระทำผิดในหมู่คนหนุ่มสาว
References
- Hirschi, Travis (1969). Causes of delinquency. 3. print. Berkeley, Calif: University of California Press.
- Krohn, M., & Massey, J. (1980). Social Control and Delinquent Behavior: An Examination of the Elements of the Social Bond. The Sociological Quarterly, 21(4), 529-544.
- Agnew, Robert (1985). Social Control Theory and Delinquency: a Longitudinal Test. Criminology, 23(1), 47-61.
- Henrich, C.C., K.A. Brookmeyer and G. Shahar. (2005). Weapon violence in adolescence: Parent and school connectedness as protective factors. Journal of Adolescent Health, 37(4), 306−312.
- Herrenkohl, T.I., K.G. Hill, I. Chung, J. Guo, R. Abott and J.D. Hawkins. (2003). Protective factors against serious violent behaviour in adolescence: A prospective study of aggressive children. Social Work, 27(3), 179−191.
- Chapple, C.L. (2003). Examining intergenerational violence: Violent role modeling or weak parental controls? Violence and Victims, 18(2), 143−162.
- Sprott, J.B. (2004). The development of early delinquency: Can classroom and school climates make a difference? Canadian Journal of Criminology and Criminal Justice, 46(5), 553−572.
- Sprott, J.B., J.M. Jenkins and A.N. Doob. (2005). The importance of school: Protecting at-risk youth from early offending. Youth Violence and Juvenile Justice, 3(1), 59−77.
- Brookmeyer, K.A., K.A. Fanti and C.C. Henrich. (2006). Schools, parents, and youth violence: A multilevel, ecological analysis. Journal of Clinical Child and Adolescent Psychology, 35(4), 504−514.
- Resnick, M.D., M. Ireland and I. Borowsky. (2004). Youth violence perpetration: What protects? What predicts? Findings from the National Longitudinal Study of Adolescent Health. Journal of Adolescent Health, 35(5), 1−10.
- Banyard, G. and K.A. Quartey. (2006). Youth’s family bonding, violence risk, and school performance: Ecological correlates of self-reported perpetration. Journal of Interpersonal Violence, 21(10), 1314−1332.
- Bernburg, J.G. and T. Thorlindsson. (2005). Violent values, conduct norms, and youth aggression: A multi-level study in Iceland. Sociological Quarterly, 46(3), 457−478.
- Benda, B.B. and H.M. Turney. (2002). Youthful violence: Problems and prospects. Child & Adolescent Social Work Journal, 19(1), 5−34.
- Johnson, B.R., S.J. Jang, D.B. Larson and S. De Li. (2001). Does adolescent religious commitment matter? A reexamination of the effects of religiosity on delinquency. Journal of Research in Crime and Delinquency, 38(1), 22−44.