Shaming การทำให้อับอาย อธิบายรูปแบบของปฏิกิริยาของคนในสังคมต่อบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน Braithwaite กล่าวว่า การทำให้อับอายแบ่งเป็น 2 รูปแบบ อันดับแรก Disintegrative shaming หรือ การทำให้อับอายแบบตีตรา เป็นการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง (stigmatising) และกีดกันบุคคลจากชุมชน ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเบี่ยงเบนแบบทุติยภูมิ (secondary deviance) และผู้กระทำผิดไม่อาจกลับคืนสู่สังคมจากการตีตรา ในทางกลับกัน Reintegrative shaming หรือ การทำให้อับอายแบบบูรณาการ นอกจากจะกล่าวถึงการไม่ยอมรับการเบี่ยงเบน ยังเห็นความสำคัญของการให้อภัยและความเต็มใจที่จะยอมรับผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ชุมชนอีกด้วย
จากทฤษฎีการตีตรา (Labelling theory), ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม (Control theory) และทฤษฎีความไร้ระเบียบทางสังคม (social disorganization theory) Braithwaite ได้แยกแยะความแตกต่างระหว่างสองรูปแบบของการทำให้อับอาย (shaming) เพื่ออธิบายวิธีการลงโทษที่สำเร็จผล Braithwaite กล่าวถึงการทำให้อับอายว่า “เป็นกระบวนการทางสังคมทั้งหมดในการแสดงความไม่ยอมรับเจตนาหรือความสำนึกผิดในตัวผู้เคยกระทำความผิด โดยการประณามผู้กระทำผิดให้เกิดความละอาย” (Braithwaite, 1989: 100)
Braithwaite แบ่งการทำให้อับอายออกเป็น 2 รูปแบบ
- Stigmatization / Disintegrative shaming การทำให้อับอายแบบตีตรา หรือ การทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นการที่คนในสังคมมองตัวผู้กระทำผิดว่าเป็นคนไม่ดีและไม่อาจกลับตัวเป็นคนดีได้ การตีตรานี้ส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลที่เคยกระทำผิดหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงตลาดแรงงานถูกปฏิเสธและมีการใช้มาตรการอื่น ๆ ที่นำไปสู่การลดระดับทางสังคม ด้วยเหตุนี้ คนที่ถูกทำให้ละอายจึงถูกปฏิเสธไม่ให้มีโอกาสเข้าร่วมในวัฒนธรรมกระแสหลัก ในที่สุดสิ่งนี้นำไปสู่การก่อตัวของโครงสร้างวัฒนธรรมย่อยซึ่งผู้ที่ถูกกีดกันทางสังคมอาจจะมารวมตัวกันกระทำผิดซ้ำได้
- Reintegrative shaming การทำให้อับอายแบบบูรณาการ ในการสร้างความอับอายแบบบูรณาการ เป็นการกระทำที่ทำให้ละอายรวมกับข้อเสนอของการกลับคืนสู่สังคมในชุมชน Braithwaite สันนิษฐานว่าการทำให้อับอายแบบบูรณาการ มีแนวโน้มที่ดีในการช่วยให้ผู้เคยกระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้ (Braithwaite, 1989: 69)
ความแตกต่างที่สำคัญของการทำให้อับอายแบบบูรณาการและการทำให้อับอายแบบตีตรา คือ การแสดงออกถึงการไม่ยอมรับของชุมชน เช่น การเรียกไปตำหนิเล็กน้อย การตักเตือนส่วนบุคคล ท่าทีของการแสดงออกเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตั้งแต่รอยยิ้มธรรมดาที่แสดงการให้อภัยและความเมตตาเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคม ในทางตรงกันข้าม การทำให้อับอายแบบตีตรา เป็นการแบ่งแยกชุมชนโดยการขับไล่ผู้ที่เบี่ยงเบนหรือกีดกันออกจากสังคม
ผลสัมฤทธิ์ของ Shaming
Braithwaite (1989: 88) กล่าวถึงประเด็นต่อไปนี้เพื่ออธิบายประสิทธิภาพของการทำให้อับอาย:
1.ความกลัวต่อความอับอายหรือกลัวการถูกตีตราของบุคคล สามารถยับยั้งพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้มากกว่าการกลัวการลงโทษ
2. การทำให้อับอายทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการป้องกันทั่วไป เนื่องจากผู้เคยกระทำความผิดหรือสมาชิกในสังคมที่เคยประสบกับความละอาย จะถูกยับยั้งจากการตัดสินใจก่ออาชญากรรม
3.การป้องกันโดยทั่วไปมีผลมากที่สุดต่อบุคคลที่เคยถูกทำให้ละอายและได้รับโอกาสคืนสู่สังคม
4.ในทางกลับกัน รูปแบบการลงโทษที่ตีตรา ทำให้การควบคุมทางสังคมอ่อนแอลงและส่งผลให้ผู้เคยกระทำผิดรวมตัวกันเป็นวัฒนธรรมย่อย
5.การทำให้อับกายเป็นกระบวนการทางสังคมที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการกระทำบางอย่าง ผลของความละอายมีผลมากกว่าการลงโทษทางกฎหมาย
6.การทำให้อับอายแบบบูรณาการมีผลในเชิงบวกมากกว่าการทำให้อับอายแบบตีตรา การสำนึกผิดของผู้กระทำความผิดและการให้อภัยของชุมชนจะทำให้กฎหมายอาญาเข้มแข็งขึ้นผ่านพลังสัญลักษณ์ของการสร้างจิตสำนึกในชุมชน
7.การทำให้อับอายเป็นรูปแบบการควบคุมทางสังคมแบบมีส่วนร่วม (ตรงกันข้ามกับการลงโทษอย่างเป็นทางการ) ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์และกลายเป็นทั้งเครื่องมือของการควบคุมทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ
8.การทำให้อับอายจนเกิดกระบวนการกลับใจของผู้กระทำผิด นำไปสู่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเป็นการลงโทษที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ที่เคยก่ออาชญากรรม
9.ความรู้สึกละอาย เป็นกระบวนการทางสังคมที่เสริมสร้างการรู้สำนึกผิดชอบชั่วดี
10.การนินทาเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดและอาชญากรรมที่พวกเขากระทำ อาจส่งเสริมการพัฒนาจิตสำนึกและศีลธรรม
11.แทนที่จะให้การทำให้อับอายในที่สาธารณะ การทำให้อับอายแบบส่วนตัวควรใช้กับเด็กและวัยรุ่นหลีกหนีจากครอบครัวและ แทนที่จะให้การทำให้อับอายในที่สาธารณะ
12.การทำให้อับอายในที่สาธารณะอาจสร้างความอับอายจนเปลี่ยนตัวผู้กระทำผิดไปในทางลบ ตัวอย่างเช่น อาจ “เปลี่ยน” อาชญากรทั่วไปให้กลายเป็นอาชญากรสงครามหรือการสังหารหมู่
13.วัฒนธรรมที่เน้นย้ำถึงการทำให้อับอายแบบบูรณาการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นระหว่างแนวปฏิบัติในการขัดเกลาทางสังคมในครอบครัวและการขัดเกลาทางสังคมในสังคมในวงกว้าง ภายในครอบครัว การควบคุมทางสังคมเปลี่ยนจากการควบคุมภายนอกเป็นการควบคุมภายในเมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมภายในเป็นรูปแบบการควบคุมอาชญากรรมที่มีประสิทธิผลมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมครอบครัวจึงเป็นตัวแทนควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากฎหมาย
14.การทำให้อับอายที่มากเกินไปอาจทำให้บุคคลละอายใจที่จะอยู่ในสังคม ดังนั้น จำเป็นต้องมีการแสดงออกที่เหมาะสมในการยอมรับเพื่อส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม
15.ประสิทธิผลของความรู้สึกละอายมักเพิ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า การทำให้อับอายไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่ผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวด้วย (ในกรณีของอาชญากรรมคอปกขาวยังเสื่อมเสียต่อบริษัทด้วย) สิ่งนี้ส่งผลให้ผู้คนยอมรับความผิดพลาดและกลับใจ
ในแผนภาพที่ซับซ้อน Braithwaite สรุปผลของการสร้างความอับอายและการตีตรา ภาพนี้แสดงให้เห็นลักษณะลูกผสมของทฤษฎีที่ใช้ทฤษฎีอาชญากรรมอื่นๆ ที่มุมบนซ้ายมีการอ้างอิงถึงทฤษฎีการควบคุมทางสังคม ทางด้านขวา มีภาพประกอบอ้างอิงถึงทฤษฎีความไร้ระเบียบทางสังคม ในครึ่งล่างขวาของภาพ คือผลที่ตามมาของการทำให้เป็นอาชญากรจากการตีตรา (รวมถึงการอ้างอิงถึงทฤษฎีAnomie และวัฒนธรรมย่อย) ในทางตรงกันข้าม ในครึ่งล่างซ้ายของแผนภาพ Braithwaite นำเสนอผลที่ตามมาของการทำให้อับอายที่ผสานรวมเข้าด้วยกัน
References
Braithwaite, J. (1989). Crime, Shame and Reintegration. Cambridge u.a.: Cambridge University Press.
Sebba, L. (2014). Penal Paradigms: Past and Present. In: G. Bruinsma & D. Weisburd (Hrsg.) Encyclopedia of Criminology and Criminal Justice. New York: Springer Reference, S. pp.3481-3490.