อาชญาวิทยาแนวรุนแรง (Radical Criminology) มีรากฐานมาจากแนวคิดของ Marxist โดยทฤษฎีนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงคราม การประท้วงของนักศึกษาและชนกลุ่มน้อยทำให้นักสังคมวิทยาและนักอาชญาวิทยามองหาคำอธิบายสถานการณ์ความไม่สงบทางสังคมและการเมืองในอเมริกา นอกจากนี้ ขณะนั้นยังเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาทางเชื้อชาติและสงครามเวียดนามส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐ รวมทั้งการจลาจลและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ รัฐบาล นักวิจัย และนักวิชาการต่างหาทางตอบโต้และควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงได้นำแนวคิดทางอุดมการณ์มาสู่อาชญาวิทยา โดยเปลี่ยนจุดสนใจจากความรับผิดชอบส่วนบุคคลในอาชญากรรมและมุ่งสู่ประเด็นทางสังคมโดยรวม
อาชญาวิทยาแนวรุนแรง บางครั้งเรียกว่า Marxist, Conflict, or Critical Criminology มุมมองเชิงอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ในช่วงปีแรก ๆ ของอาชญาวิทยาแนวรุนแรง เป็นรากฐานสำหรับนักอาชญาวิทยาที่สนใจในอนาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สตรีนิยม รัฐธรรมนูญ วัฒนธรรม การสร้างสันติภาพ การฟื้นฟู และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Critical Criminology
นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงหรือนักอาชญาวิทยาแนววิพากษ์ทุกสาขามีแนวคิดและหลักการร่วมกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การกระจายอำนาจและวิธีการที่กฎหมายคุ้มครองผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตามหลักการของ Marxist ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่โต้แย้งว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมทุนนิยมออกกฎหมายเพื่อใช้อำนาจควบคุมชนชั้นล่าง
นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงหรือนักอาชญาวิทยาแนววิพากษ์หลายคนมีบทบาททางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยทั่วไปยึดหลักการของ Marxist แม้ว่า Marx จะไม่ได้กล่าวถึงอาชญากรรมโดยเฉพาะ แต่งานเขียนของเขาเน้นไปที่กฎหมาย อำนาจ และการควบคุมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบอาชญากรรมและความยุติธรรม
นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงโต้แย้งว่า ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายสนองความต้องการส่วนตนโดยการกำหนดนโยบายสาธารณะ แทนที่จะกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงมองว่า กฎหมายเป็นชุดกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดเพื่อบังคับใช้ และระบบยุติธรรมทางอาญาก็พยายามที่จะทำให้ผู้ต่อต้านเป็นกลาง โดยพุ่งเป้าไปที่การกระทำของผู้ที่ถูกกดขี่มากที่สุด นอกจากนี้ กฎหมายเหล่านี้ยังสร้างลำดับชั้นเพื่อสนองผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ
ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ กล่าวถือ กระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายกับกลุ่มสังคมต่างๆ แตกต่างกัน กรรมกรและชนกลุ่มน้อยถูกกฎหมายตีกรอบให้เป็นอาชญากร ในขณะที่ผู้มีอำนาจและคนรวยกลับถูกละเลยอยู่เหนือกฎหมาย
อาชญาวิทยากระแสหลักมุ่งเน้นไปที่คำอธิบายเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของพฤติกรรมอาชญากร นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงให้เหตุผลว่า การศึกษาสาเหตุการกระทำผิดจากตัวอาชญากร เน้นที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลในอาชญากรรม ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม และ ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถก่ออาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้โดยไม่กลัวการลงโทษ
นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงยังตรวจสอบกระบวนการซึ่งก่อให้เกิดความเบี่ยงเบน พฤติกรรมอาชญากรรม และการตอบสนองของรัฐต่ออาชญากรรม การตรวจสอบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการใช้อำนาจรัฐเพื่อกำหนดการกระทำที่ท้าทายผู้มีอำนาจ ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อระเบียบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองจะถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเช่นเดียวกับอาชญากร (Lynch and Groves, 1989) ในทำนองเดียวกัน การมุ่งเน้นที่ผู้กระทำความผิดซ้ำและโทษจำคุกที่ยาวนานนั้นมุ่งเน้นไปที่อาชญากรรมบนท้องถนนมากกว่าอาชญากรรมในองค์กรหรืออาชญากรรมปกขาว รูปแบบนี้ยังตอกย้ำการรับรู้ว่า ปัจเจกบุคคลเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมแทนที่ตรวจสอบระดับสถาบัน ผลที่ตามมาคือ ผู้มีอำนาจสามารถใช้การควบคุมทางสังคมต่อมวลชนโดยไม่รวมการกระทำของตนเองและการกระทำทางอาญาของผู้ที่รับใช้ผลประโยชน์ของผู้อำนาจ
นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงปฏิเสธคำจำกัดความทางกฎหมายของอาชญากรรม และปฏิเสธทฤษฎีอาชญากรรมเชิงปัจเจกทั้งหมด เช่น ชีววิทยาและจิตวิทยา เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์สภาพสังคมที่ทำให้บุคคลถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงมองว่าทฤษฎีกระแสหลักเกี่ยวกับอาชญากรรมเป็นการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ของระบบทุนนิยม ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาอาชญากรได้คือล้มล้างระบบทุนนิยมที่เป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง กล่าวได้ว่า นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงเป็นพวกนิยมลัทธิการล้มเลิกเพราะพวกเขาพยายามที่จะยุติระบบยุติธรรมทางอาญาของรัฐทั้งหมดที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานของผู้ถูกกดขี่
มุมมองเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อทรัพย์สิน นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงเชื่อว่า อาชญาวิทยาแบบดั้งเดิมให้ความสำคัญกับความรุนแรงของอาชญากรรมต่อทรัพย์สินมากเกินไป อาชญากรรมทรัพย์สินเป็นผลร้ายระบบการปกครองที่เอาเปรียบชนชั้นล่างและทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีของทรัพย์สินของชนชั้นสูงอยู่เหนือความต้องการของชนชั้นล่าง ดังนั้น Street crimes จึงไม่ใช่อาชญากรรมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงปฏิกิริยาต่อสังคมที่ไม่เป็นธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม อาชญากรรมทั้งหมดที่ก่อขึ้นโดยชนชั้นล่างนั้นก่อขึ้นเพราะจำเป็นต่อการอยู่รอดของพวกเขา
มุมมองเกี่ยวกับการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงปฏิเสธแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของชาติและความมั่นคงชายแดน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากการกดขี่ของรัฐและควรได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง ดังนั้นการเข้าเมืองไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
บทบาทของนักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงนักอาชญาวิทยาหัวรุนแรงเชื่อว่า อาชญาวิทยาควรเปิดเผยต่อสาธารณะ นั่นคือควรมีอยู่และมีผลกระทบนอกวงวิชาการ บทบาทของนักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงคือการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของระบบทุนนิยม ในขณะเดียวกันก็รณรงค์เกี่ยวกับการล้มล้างระบบ
How to reference this article:
มัชฌิมา ร่มรุกข์. (2022, December 01). Radical Theory. Aboutcriminology. https://aboutcriminology.org/2022/12/01/radical-theory/.
References
Lynch, M. J., Groves, W. B., & Roberts, C. (1989). A primer in radical criminology (pp. 158-158). New York: Harrow and Heston.
Mentor, K. W. (2015). Radical Criminology. Critical Criminology. https://critcrim.org/radical-criminology.htm
Shantz, Jeff (2012-10-29). Radical Criminology – A Manifesto. Radical Criminology, (1), pp.7–17.