คำว่า ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดครั้งแรกโดย Bandura (1982, 1986) การพิจารณาแนวคิดในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มในกลุ่มขนาดใหญ่มาก เช่น ประชาชาติและขบวนการทางสังคม ต่อมาช่วง 1990s แนวคิดทางสังคมศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อ Sampson (2006) นำแนวคิดนี้ไปใช้กับการศึกษาย่านชุมชนใน Chicago การศึกษาของเขาได้สรุปแนวคิดว่า “ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มเป็นคุณสมบัติของชุมชนที่อาจสามารถช่วยล้อาชญากรรมความรุนแรงได้”
ทฤษฎีประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy Theory) เป็นกระบวนการของการกระตุ้นหรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่ผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เช่น ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเพื่อควบคุมอาชญากรรม
ในอาชญาวิทยา คำว่า Collective Efficacy หมายถึง ความสามารถของสมาชิกในชุมชนในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มในชุมชน การควบคุมพฤติกรรมของผู้คนช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย Collective Efficacy เกี่ยวข้องกับผู้อยู่อาศัยในการตรวจสอบเด็กหรือเยาวชนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เพื่อร่วมกันเป็นหูเป็นตา ป้องกันพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่อาจเกิดในเยาวชน แนวคิดของ Collective Efficacy ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายว่าทำไมย่านเมืองจึงมีปริมาณอาชญากรรมที่เกิดขึ้นแตกต่างจากละแวกใกล้เคียง จะพบว่าในเขตเมืองที่เพื่อนบ้านเฝ้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มและเต็มใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการทะเลาะวิวาทหรือป้องกันความวุ่นวาย อาชญากรรมรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า
เพื่อสร้างประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มในชุมชน สมาชิกจะต้องมีความรู้สึกไว้วางใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ดีต่อกัน ในชุมชนที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจ หรือเกรงกลัวซึ่งกันและกัน ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสน้อยที่จะทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมดูแลพฤติกรรมของบุคคลในชุมชน ในทางกลับกัน ในชุมชนที่ผู้คนไว้วางใจกันมากและเต็มใจให้ความร่วมมือมากกว่ามีแนวโน้มที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้มากกว่า กล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม ทำให้สมาชิกในชุมชนรู้สึกผูกพันกันอย่างมาก
ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่สมาชิกในชุมชนใช้หรือกำหนดร่วมกัน หากสมาชิกในชุมชนไว้วางใจซึ่งกันและกันและเต็มใจที่จะร่วมมือกันเพื่อป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรม มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ปลอดภัยได้ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม ยังรวมถึงพฤติกรรม บรรทัดฐาน และการกระทำที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่กำหนดใช้เพื่อบรรลุความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ นักสังคมวิทยาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า กลไกที่ไม่เป็นทางการ (informal mechanisms) ในชุมชนที่มีการบังคับใช้การปฏิบัติที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้ สมาชิกในชุมชนมีโอกาสน้อยที่จะมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) ไม่เพียงแต่ลดอาชญากรรมในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ยังลดโอกาสในการเกิดอาชญากรรมบางรูปแบบในพื้นที่ส่วนตัวด้วย (เช่น ภายในบ้าน) ตัวอย่างเช่น การศึกษาใน Chicago ปี 2002 พบว่า ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม ช่วยลดความน่าจะเป็นของการฆาตกรรมหญิงและความรุนแรงทางร่างกายต่อผู้หญิงจากผู้ชาย ผลลัพธ์เหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยการค้นพบว่า ชุมชนที่มีความไว้วางใจ ความร่วมมือ และการกำกับดูแลในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะเสนอความช่วยเหลือหลายประเภทแก่ผู้หญิง รวมถึงการสนับสนุน คำแนะนำ และที่พักพิงแก่ต่อผู้หญิง
ผู้สนับสนุนทฤษฎี Collective Efficacy อ้างว่ามาตรการเหล่านี้เพิ่มการควบคุมชุมชนต่อปัจเจกบุคคล ดังนั้น จึงสร้างสภาพแวดล้อมที่อาชญากรรมรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงและสามารถนำไปสู่การลดอาชญากรรมในชุมชนได้อย่างมาก จากการวิจัย สรุปได้ว่า ชุมชนที่มี Collective Efficacy ในระดับสูงพบว่ามีอัตราความรุนแรงและการฆาตกรรมที่ต่ำกว่า ซึ่งบ่งชี้ว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันความรุนแรงจะลดอาชญากรรม
อย่างไรก็ตาม ในเชิงลบ Collective Efficacy อาจใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายเพื่อสะกดรอยตามหรือบุกรุกความเป็นส่วนตัวมากเกินไป บางครั้งพวกสะกดรอยตามจะใช้มาตรการ Collective Efficacy เพื่อพยายามแทรกแซงชีวิตของบุคคลที่เป็นเป้าหมาย หรือสร้างความคิดเห็นสาธารณะเชิงลบด้วยการหมิ่นประมาทและใส่ร้ายได้
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy)
ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) พัฒนาได้ง่ายกว่าในบางชุมชนเท่านั้น ปัจจัยที่อาจไม่เอื้ออำนวยกับทฤษฎีนี้ เช่น
- ชุมชนที่ประสบปัญหาประชากรลดลงมีโอกาสน้อยที่จะพัฒนา เนื่องจากประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มอาจไม่เพียงพอเพื่อป้องกันอาชญากรรม
- ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลกระทบต่อบางพื้นที่ ทำให้ผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบย้ายไปอยู่ในละแวกอื่นที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า เนื่องจากการพัฒนาความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความร่วมมือกับเพื่อนบ้านต้องใช้เวลา ชุมชนที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะย้ายออกจึงมีระดับ Collective Efficacy ที่ต่ำกว่า กล่าวคือ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงของที่อยู่อาศัย ความผูกพันทางสังคมระหว่างผู้อยู่อาศัยจะอ่อนแอลง ผู้คนจะไม่ค่อยร่วมมือในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้อื่น
- บุคคลที่มีรายได้น้อย เช่น สมาชิกของชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ หรือครอบครัวหญิงเดี่ยว บุคคลเหล่านี้มักจะขาดทรัพยากรที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัดส่วนของบุคคลที่ร่ำรวย ผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่มีรายได้น้อยจึงมีแนวโน้มที่จะถูกกีดกันไม่ให้ติดต่อกับคนที่มีฐานะดีกว่า ปัจจัยนี้ส่งผลให้ขาดการควบคุมในหมู่ผู้อยู่อาศัยในย่านที่มีรายได้น้อย ทำให้ความไว้วางใจและความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างผู้อยู่อาศัยอ่อนลง การขาดความไว้วางใจและความสามัคคีระหว่างบุคคลจะลดความน่าจะเป็นที่พวกเขาจะเต็มใจที่จะติดตามพฤติกรรมของผู้อื่นหรือแทรกแซงเพื่อป้องกันอาชญากรรม
How to reference this article:
มัชฌิมา ร่มรุกข์. (2022, November 28). Collective Efficacy Theory. Aboutcriminology. https://aboutcriminology.org/2022/11/28/collective-efficacy-theory/.
References
Sampson, Robert. J., Stephen. W. Raudenbush, and Felton Earls. 1997. “Neighborhoods and Violent Crime: A Multilevel Study of Collective Efficacy.” Science 277 (5328): 918-924.
Sampson, Robert J. and Stephen W. Raudenbush. 1999. “Systematic Social Observation of Public Spaces: A New Look at Disorder in Urban Neighborhoods.” American Journal of Sociology 105 (3): 603.
Browning, Christopher R. 2002. “The Span of Collective Efficacy: Extending Social Disorganization Theory to Partner Violence.” Journal of Marriage and Family 64 (4): 833-850.
Morenoff, Jeffrey D., Robert J. Sampson, and Stephen W. Raudenbush. 2001. “Neighborhood Inequality, Collective Efficacy, and the Spatial Dynamics of Urban Violence*.” Criminology 39 (3): 517-558.
Sampson, Robert J., Jeffrey D. Morenoff, and Thomas Gannon-Rowley. 2002. “Assessing “Neighborhood Effects”: Social Processes and New Directions in Research.” Annual Review of Sociology: 443-478.