ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ (Space Transitional Theory) ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชื่อ “Crimes of the Internet” ในปี 2008 โดย K. Jaishankar ทฤษฎีนี้เป็นหนึ่งทฤษฎีอาชญาวิทยาที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดในการอธิบายอาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) ทฤษฎีนี้มองว่าการเกิดขึ้นของพื้นที่โลกออนไลน์ เป็นสถานที่ใหม่ของแหล่งเกิดอาชญากรรม และใช้อธิบายสาเหตุของอาชญากรรมในพื้นที่โลกออนไลน์ โลกปัจจุบันเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักสังคมวิทยาท่านใดที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์โดยรวมของอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับ Jaishankar
“ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ อธิบายธรรมชาติของพฤติกรรมบุคคลที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกันในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงและในพื้นที่โลกออนไลน์ การเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของบุคคลจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น จากพื้นที่ของโลกความเป็นจริงไปยังโลกไซเบอร์ ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ โต้แย้งว่า ผู้คนมีพฤติกรรมแตกต่างกันเมื่อพวกเขาย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้มีการตรวจสอบเชิงประจักษ์หลายครั้งเพื่อทดสอบประโยชน์ของทฤษฎีนี้ นักวิชาการบางคนชื่นชมข้อมูลเชิงลึกของ Jaishankar ในการรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ในขณะที่คนอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อเสนอบางอย่างในทฤษฎีของเขาค่อนข้างยากที่จะทดสอบ และอาจใช้อธิบายกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้บางรูปแบบเท่านั้น
ข้อเสนอของทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่
1.บุคคลที่พยายามเก็บกดพฤติกรรมอาชญากรไว้ในชีวิตจริง (ในพื้นที่ของโลกความเป็นจริง) มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ เนื่องจากไม่สามารถกระทำในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงได้ อาจเนื่องจากสถานะและตำแหน่งในสังคม
ข้อเสนอนี้ Jaishankar อธิบายว่า บุคคลจะรู้สึกผิดในระดับที่แตกต่างกันไปจากการมีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยทั่วไปบุคคลจะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางสังคมและในการตัดสินใจกระทำผิด ของบุคคลจะคำนวณความเสี่ยงทางสังคมและประโยชน์จากการเป็นอาชญากร กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนที่มีความรู้สึกผิดอาจไม่ยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นอาชญากร ถ้าผลของการกระทำผิดมีผลเสียต่อสถานะทางสังคมและเกิดความอับอาย
อย่างไรก็ตาม Jaishankar ตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มของบุคคลที่จะประพฤติในลักษณะนี้พบความเกี่ยวข้องในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงเท่านั้น หากบุคคลเดียวกันย้ายไปอยู่ในโลกไซเบอร์ พวกเขาจะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางสังคมน้อยลง คล้ายกับการซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากาก อาชญากรในโนโลกออนไลน์ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเผชิญความอับอายขายหน้าในสังคม เพราะไม่มีใครสามารถระบุตัวตนที่แท้จริงได้
Jaishankar กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่าพฤติกรรมที่ถูกกดขี่ ในข้อเสนอของเขาไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายใด ๆ ที่ถูกกดขี่ตั้งแต่วัยเด็ก แต่แสดงถึงแรงจูงใจ
ซ่อนเร้นของบุคคลที่ไม่สามารถแสดงออกในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงเนื่องจากสถานะและตำแหน่งในสังคม
2.การไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง และการขาดการป้องกันในโลกไซเบอร์ทำให้ผู้กระทำความผิดมีทางเลือกในการก่ออาชญากรรม
ข้อเสนอนี้ Jaishankar อธิบายพฤติกรรมของผู้คนในโลกออนไลน์ว่า การไม่เปิดเผยตัวตนของอาชญากรในโลกออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความต้องการหรืออารมณ์ในทางลบ เนื่องจากผู้กระทำผิดออนไลน์สามารถแยกการกระทำของพวกเขาออกจากโลกแห่งความจริงและพวกเขาจะรู้สึกปลอดภัยจากผลที่ตามมาของการกระทำเหล่านั้น เช่น คุกคามผู้อื่น โพสต์ข้อความแสดงความเกลียดชัง เป็นต้น ข้อกังวลที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับพื้นที่โลกออนไลน์ คือ เราไม่สามารถระบุตัวตนและข้อมูลที่ได้รับจากบุคคลบนโลกออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่าง การฉ้อโกงเกี่ยวกับการแต่งงาน Scammer มักสร้างโปรไฟล์ที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้หญิงเพื่อพยายามหลอกลวง ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นยากแก่การตรวจสอบ
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่กระตุ้นให้สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ความกลัวที่จะถูกจับ ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้คนกระทำความผิด ในทางตรงกันข้าม การป้องกันนี้ในโลกออนไลน์กลับไม่มีมาตรการป้องกันที่ครอบคลุมแต่อย่างใด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? นั่นเป็นเพราะโลกออนไลน์ทำให้อาชญากรสามารถโจมตีเหยื่อได้จากที่ห่างไกล และไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้เหยื่ออย่างอาชญากรรมทั่วไป นอกจากนี้ อันตรายที่เกิดกับเหยื่อในอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นจะไม่ปรากฏให้เห็นในทันที บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อเหยื่อทั้งทางสังคม จิตใจ และการเงิน
3.พฤติกรรมของผู้กระทำความผิดในโลกออนไลน์มักจะถูกนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของโลกความเป็นจริง ทำนองเดียวกัน พฤติกรรมการกระทำผิดของความในโลกความจริงสามารถนำมาปรับใช้ในโลกออนไลน์
ก่อนปี 2000 อาชญากรไซเบอร์กระทำการโดยลำพัง และก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ในฐานะบุคคล แรงจูงใจหลักที่ส่งผลให้พวกเขากระทำผิด คือ การเผยแพร่และมีชื่อเสียง ไม่ใช่การหวังผลกำไร แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเติบโตของการทำธุรกิจออนไลน์ เปิดพื้นที่ทำเงินให้อาชญากรเพิ่มขึ้น อาชญากรไซเบอร์มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เนื่องจากอาชญากรรมออนไลน์ในปัจจุบันสามารถสร้างรายได้มหาศาลประกอบกับมีความเสี่ยงในการถูกจับได้ค่อนข้างต่ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อาชญากรไซเบอร์ได้เริ่มพัฒนาทักษะความรู้ และเครือข่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานในรูปแบบองค์กร ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมในอาชญากรรมทางออนไลน์นั้นให้ผลตอบแทนมากกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการก่ออาชญากรรมแบบดั้งเดิม พื้นที่ในโลกออนไลน์ช่วยให้แก๊งอาชญากรอำนวยความสะดวกและปกปิดการกระทำผิด อีกทั้งความสะดวกของโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งอาจเพิ่มความยากสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมายในการติดตามธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มอาชญากร
4.การเคลื่อนย้ายตลอดเวลาเชิงพื้นที่ในพื้นที่โลกออนไลน์ทำให้มีโอกาสที่จะหลบหนีได้
พื้นที่โลกออนไลน์เป็นทางผ่านสำหรับคนส่วนใหญ่ รวมถึงผู้กระทำความผิด ผู้คนไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกไซเบอร์ พวกเขาผ่านมาและออกไปเหมือนที่อื่น ธรรมชาติของพื้นที่โลกออนไลน์นี้ ช่วยให้อาชญากรไซเบอร์เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งและปกปิดตำแหน่งจริงของพวกเขา ซึ่งทำให้ไซเบอร์สเปซเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับพวกเขาในการก่ออาชญากรรม
นอกจากนี้ ลักษณะของอาชญากรรมทางไซเบอร์ยังอาจแตกต่างไปจากอาชญากรรม แบบดั้งเดิม เนื่องจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ไม่ยึดติดกับข้อจำกัดทางพื้นที่และอาชญากรในโลกออนไลน์สามารถโจมตีเหยื่อในระยะไกล เนื่องจากลักษณะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของพื้นที่โลกออนไลน์จึงเป็นการยากที่จะทำแผนที่ทางอาชญากรรมไซเบอร์
5. (a) คนแปลกหน้ามักรวมตัวกันในโลกออนไลน์เพื่อก่ออาชญากรรมในโลกความเป็นจริง
(b) ผู้ร่วมก่ออาชญากรรมในโลกความเป็นจริงมีแนวโน้มที่จะร่วมกันก่ออาชญากรรมในพื้นที่โลกออนไลน์
กรณี (a) อินเทอร์เน็ตกลายเป็นหนึ่งในสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับการรับสมัครอาชญากรและการเผยแพร่เทคนิคทางอาชญากร เช่น การรับสมัครออนไลน์ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIS ที่รับสมัครชายหนุ่มมุสลิมหลายพันคนเพื่อมีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงด้วยอาวุธ นับเป็นสถานการณ์รวมผู้คนที่มีแนวคิดเดียวกันมารวมตัวกันทางออนไลน์เพื่อใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของโลกความเป็นจริง
ในกรณี (b) Jaishankar อธิบายว่า ภัยคุกคามจากภายในองค์กรเดียวกันเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในโลกไซเบอร์ เช่น พนักงานที่ไม่พอใจอาจทำลายอนาคตของบริษัทได้ด้วยการสอดแนม มีส่วนร่วมในการก่อวินาศกรรมหรือปล่อยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนให้รั่วไหล และพวกเขาอาจกระทำความผิดเหล่านี้ในโลกไซเบอร์ ดังนั้น การโจมตีบนเว็บไซต์ของอินเดียจึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่ ตอกย้ำแนวคิดที่ว่าอาชญากรรวมตัวกันในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์
6.บุคคลที่มาจากสังคมปิดมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์มากกว่าบุคคลที่มาจากสังคมเปิด
ข้อเสนอของ Jaishankar กล่าวว่า ผู้คนจากสังคมเปิดมีทางเลือกมากมายในการระบายความรู้สึก เช่น ความโกรธ ในรูปแบบของการประท้วงและการเดินขบวน แต่ในทางกลับกัน ผู้คนจากสังคมปิดไม่มีช่องทางดังกล่าวในการระบายความรู้สึกที่เก็บกด ดังนั้น ผู้คนจากสังคมปิดมักเลือกที่จะปลดปล่อยในโลกไซเบอร์ เช่น การโพสข้อความแสดงความเกลียดชัง (hate speech) ในสื่อสังคมออนไลน์ และการโพสต์ภาพอนาจารเพื่อแก้แค้นศัตรู ฯลฯ
7.ความขัดแย้งของบรรทัดฐาน (norm) หรือ ค่านิยม (value) ของพื้นที่ของโลกความเป็นจริงและพื้นที่โลกออนไลน์อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์
ข้อเสนอนี้ Jaishankar อธิบายว่าพื้นที่โลกออนไลน์ มีบรรทัดฐานและค่านิยมของตนเองแตกต่างจากบรรทัดฐานและค่านิยมของผู้คนในชีวิตจริง เนื่องจากพื้นที่โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ระหว่างประเทศที่ผู้คนจากทั่วโลกมารวมตัวกันจึงมีความหลากหลายของพฤติกรรม Jaishankar อธิบายว่าพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่โลกออนไลน์นั้นไม่เหมือนกันและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล พฤติกรรมที่แตกต่างกันนี้สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้คนในโลกออนไลน์และนำไปสู่อาชญากรรมทางไซเบอร์ในที่สุด
How to reference this article:
มัชฌิมา ร่มรุกข์. (2022, November 19). Space Transitional Theory. Aboutcriminology. https://aboutcriminology.org/2022/11/19/space-transitional-theory/.
Reference
Jaishankar, K. (2008). Space Transition Theory of cyber crimes. In F. Schmallager & M. Pittaro. (Eds.), Crimes of the Internet (pp. 283-301). Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.