Differential Opportunity Theory

ทฤษฎีของโอกาสที่แตกต่างกัน (Differential opportunity theory) โดย Richard Cloward และ Lloyd Ohlin (1960) ได้แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎี Differential association, Subculture, Strain และ Social Disorganization โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่างของ Sutherland เริ่มจากสมมติฐานที่ว่าแรงจูงใจของการกระทำผิดทางอาญา เทคนิคในการกระทำผิด และการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองนั้นเรียนรู้ผ่านการคบหาสมาคมกับอาชญากร นอกจากนี้ Cloward และ Ohlin ได้ต่อยอดแนวคิดของ Merton และ Cohen ที่ว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นผลมาจากแรงกดดันเฉพาะของชั้นในการปรับตัวหรือการเข้าถึงวิธีการที่ถูกต้องที่ถูกจำกัดของชนชั้นที่ต่ำกว่าและการปรับตัวนี้มักจะเกิดขึ้นรวมกันผ่านกระบวนการปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม

Cloward และ Ohlin โต้แย้งว่า Cohen ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ประสบปัญหาการปรับตัวจนผันตัวกลายเป็นอาชญากร “โอกาสที่แตกต่างในการเข้าถึงการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสาเหตุสำคัญด้วยเช่นกัน” ตัวอย่างเช่น การค้ายาเสพติดเข้าถึงได้ยากในเมืองแต่ในบางชุมชนกลับเข้าถึงได้ง่าย บุคคลที่ตั้งใจจะเป็นผู้ค้ายาไม่เพียงแต่ต้องเข้าถึงการจัดหายาเท่านั้น แต่ยังต้องมีฐานลูกค้าและมุมถนนที่เขาสามารถขายยาได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงวิธีการเหล่านี้ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีประสบการณ์ในกลุ่มผู้กระทำผิด ซึ่งพวกเขาต้องยินดีแบ่งปันความรู้และเครือข่ายวิชาชีพ อีกหนึ่งตัวอย่างเช่น โอกาสในการบุกเข้าโจรกรรมรถ ซึ่งโอกาสขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม หากเพื่อนบ้านใกล้เคียงเป็นหูเป็นตา โอกาสโจรกรรมย่อมน้อยลง ซึ่งเป็นไปตามข้อสันนิษฐานทฤษฎี Social disorganization ของ Shaw and McKay 

Cloward และ Ohlin ได้ศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรมรวมถึงวิธีการก่ออาชญากรรม โดยได้ศึกษาว่า โอกาสที่แตกต่างกันในการประสบความสำเร็จจะส่งผลต่อการเลือกชีวิตและการตัดสินใจก่ออาชญากรรมได้อย่างไร ผู้คนทั่วโลกมีแนวปฏิบัติ ค่านิยม และกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ระบบความคาดหวังและการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้เรียกว่า วัฒนธรรม Cloward และ Ohlin จึงศึกษาว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเหล่านี้ส่งผลด้านโอกาสต่อคนหนุ่มสาวอย่างไร และโอกาสเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนุ่มสาววัยทำงานไม่สามารถหางานที่มีรายได้ดีหรือบรรลุสถานะชนชั้นกลาง พวกเขาอาจหันไปก่ออาชญากรรม การขาดโอกาสในการได้งานที่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกถูกตัดขาดจากวัฒนธรรมของตนเอง เพิ่มโอกาสที่พวกเขาหันไปหาวัฒนธรรมย่อยแทน 

ในทุกวัฒนธรรมมีโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวที่จะได้รับความมั่งคั่ง อำนาจ ความเคารพและความสุข วิธีที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มที่คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่ โครงสร้างโอกาสที่ถูกต้องตามกฎหมายอธิบายถึงชุมชนที่คนหนุ่มสาวมักได้รับการศึกษาและหางานที่ช่วยให้พวกเขาทำงานหนักและเติบโตอย่างมืออาชีพ โครงสร้างโอกาสที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อชุมชนขาดทรัพยากรที่จะช่วยสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น ชุมชนที่มีทรัพยากรจำกัดในการจ้างงาน อาจสร้างโอกาสในคนหนุ่มสาวหันเหไปหาเงินด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย การขาดโอกาสและความมั่งคั่งในพื้นที่หรือชุมชนที่ยากจนทำให้เกิดความเครียดแก่คนหนุ่มสาว ความเครียดนี้อาจกดดันให้ผู้คนก่ออาชญากรรม นี่เป็นความเครียดเชิงโครงสร้างเนื่องจากไม่สามารถบรรลุบทบาทที่คาดหวังของสังคมได้ มันสร้างความกดดันให้บรรลุความปรารถนาจะร่ำรวยหรือได้รับความเคารพ กล่าวได้ว่า Cloward และ Ohlin ใช้ทฤษฎีความเครียดของ Merton เป็นพื้นฐานสำหรับทฤษฎีของพวกเขาเกี่ยวกับโอกาสและการกระทำผิดที่ผิดกฎหมาย

เหตุใดเยาวชนในชุมชนระดับล่าง จึงหันไปรวมกลุ่มกันสร้างวัฒนธรรมรอง ?

ทฤษฎีความเครียดของ Merton กล่าวถึงที่มาของแรงกดดัน แต่ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างอย่างเป็นระบบว่าทำไมบุคคลถึงต้องปรับตัวให้เข้ากับปัญหาสถานะทางชนชั้น Cloward และ Ohlin จึงศึกษาว่า เหตุใดเยาวชนชายในชุมชนระดับล่าง จึงหันไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยการร่วมวัฒนธรรมย่อย พวกเขาพยายามที่จะกำหนด “ตัวแปรแทรกแซง” ที่นำเยาวชนเหล่านี้เข้าสู่แก๊งค์ด้วยปัจจัย 2 ประการ

ประการแรก เยาวชนที่ถูกกีดกันจากเป้าหมายความสำเร็จอาจประสบกับ “กระบวนการของความแปลกแยก (process of alienation)” ซึ่งพวกเขาเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานที่กำหนดว่าความสำเร็จจะต้องกระทำตามด้วยวิธีที่ถูกต้องเท่านั้น เช่น การทำงานหนักและการศึกษา เยาวชนเหล่านี้มองว่า “เป้าหมายของพวกเขาถูกปิดกั้นไม่ใช่เพราะความล้มเหลวของตนเอง แต่เกิดจากการจัดการทางสังคมที่ไม่ยุติธรรมที่ขัดขวางความก้าวหน้าของพวกเขา” นอกจากนี้ ปัญชาเชิงโครงสร้างยังกระตุ้นให้เยาวชนค้นหาผู้อื่นที่มีทัศนะต่อโลกแห่งความล้มเหลวเหมือนกัน การรวมกลุ่มกันเกิดขึ้นได้เพราะคนเหล่านี้ให้ “กำลังใจและความมั่นใจจากผู้ที่เผชิญประสบการณ์คล้ายคลึงกันและจะสนับสนุนซึ่งกัน” ความกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกผิดในการกระทำผิดจะถูกล้มล้างโดยกระบวนการของความแปลกแยก (process of alienation) จากวัฒนธรรมย่อยที่เบี่ยงเบนซึ่งเกิดขึ้นใหม่ เนื่องจากได้รับเอาความเชื่อและค่านิยมที่หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง 

ประการที่สอง “การสื่อสารระหว่างบุคคลที่รู้สึกแปลกแยก” หากมี “อุปสรรคในการสื่อสาร” การจัดตั้งกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่สนับสนุนการก่ออาชญากรรมก็อาจไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะในเมืองของชนชั้นล่างนั้นเอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว เนื่องจากเยาวชนจำนวนมากที่มีปัญหาในการปรับตัวแบบเดียวกันอยู่ใกล้กันและมีโอกาสที่จะรับรู้ถึงความรู้สึกไม่ยุติธรรมของกันและกัน ปฏิกิริยาเชิงลบนี้ส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่เยาวชน และทำให้กลุ่มตระหนักถึงการแยกตัวออกจากสังคมหลักมากขึ้น 

ประเภทของ Delinquent Subcultures

จากการวิจัยของพวกเขา Cloward และ Ohlin วัฒนธรรมย่อยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.Criminal Subcultures วัฒนธรรมรองอาชญากรรม มีลักษณะเป็นอาชญากรรมที่แสวงหาประโยชน์ทางการเงิน เช่น การโจรกรรม การวิ่งราว อาชญากรกลุ่มนี้พัฒนาในพื้นที่ของชนชั้นแรงงาน อาชญากรผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ก่อนจะปลูกฝังให้อาชญากรรุ่นเยาว์ได้เรียนรู้เทคนิคหรือวิธิการกระทำความผิด จุดประสงค์เพื่อสร้างอาชีพสำหรับอาชญากรรุ่นเยาว์และเป็นทางเลือกแทนตลาดแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายในการบรรลุผลตอบแทนทางการเงิน เมื่อเยาวชนเหล่านี้คบหากับผู้ใหญ่เหล่านั้นจึงเริ่มวงจรในการก่ออาชญากรรม และได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างดีในการกลายเป็นอาชญากร

2.Conflict subculture วัฒนธรรมรองของความขัดแย้ง เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เป็นระเบียบทางสังคมซึ่งมีอัตราการหมุนเวียนของประชากรสูง และเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดความสามัคคีทางสังคม ส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายในสังคม คนหนุ่มสาวที่ล้มเหลวในชีวิตแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์นี้ผ่านการใช้ความรุนแรงหรืออาชญากรรมบนท้องถนน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนที่ตนเองคบหาซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของวัฒนธรรมรอง

3.Retreatist subculture วัฒนธรรมรองแบบหลบหนี ได้อธิบายไว้ว่า ละแวกพื้นที่ใกล้เคียงที่พักอาศัยไม่ได้ส่งผลให้ทุกคนอยากเป็นอาชญากรเสมอไป แต่กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ไม่สามารถหาความสำเร็จได้เมื่อปฏิบัติตนถูกกฎหมาย และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าเรียน จึงเปรียบได้ว่าเยาวชนเหล่านี้ประสบกับความล้มเหลวในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขาจึงหลบหนีหรือปลีกตัวออกจากสังคม ไปสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่คิดว่าเป็นโลกที่ยอมรับในตัวพวกเขาผ่านการเสพยาเสพติดหรือดื่มสุรา

วิเคราะห์อาชญากรรมผ่านแนวคิด American Dream

คำอธิบายเกี่ยวกับอาชญากรรมบางอย่าง เช่น ทฤษฎีการควบคุม (Control theory) ถือว่าผู้คนมักจะก่ออาชญากรรมเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสวงหาความพึงพอใจชั่วขณะและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด ซึ่งในบางครั้งอาจรวมถึงการก่ออาชญากรรมด้วย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความเครียด (Strain Theory) ปฏิเสธมุมมองนี้กล่าวว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลที่มีฐานะสังคมต่ำกว่าต้องการปรับตัวจากสังคมชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นความพยายามอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับมือกับปัญหาที่ก่อให้เกิดแรงกดดันในชีวิตของบุคคล สถานการณ์เหล่านี้สร้างแรงจูงใจให้ทำบางสิ่งเพื่อบรรเทาความรู้สึกเครียดที่รุนแรง ในแง่นี้แรงจูงใจในการกระทำผิดถูกสร้างขึ้นจากแรงกดดันในสังคมและไม่ได้อธิบายด้วยธรรมชาติของมนุษย์

เหตุใดจึงอาชญากรรมอาจสูงกว่าสำหรับผู้ที่อยู่ในสังคมระดับล่างของสังคมอเมริกัน ? Merton กล่าวว่า สหรัฐอเมริกามีลักษณะเฉพาะตามวัฒนธรรมที่สั่งสมมา ซึ่งเขาสร้างได้ด้วยการสร้างความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) ความเชื่อทางวัฒนธรรมชุดนี้สอนว่าในสหรัฐอเมริกา ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ ชาวอเมริกันทุกคนมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จทางวัตถุ โดยบอกว่าการทำงานหนักจะนำมาซึ่งรางวัลสูง ความฝันแบบอเมริกันมีผลในทางบวก เพราะมันสร้างความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน และช่วยให้บางคนที่อาจจมอยู่ในก้นบึ้งของสังคมได้รับความมั่งคั่งมหาศาล แต่ความฝันนี้ก็มีด้านมืดเช่นกัน

ปัญหาคือ American Dream ปลูกฝังทุกคนว่าความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ความฝันนี้เผชิญกับความจริงอันโหดร้าย นั่นคือ โครงสร้างชนชั้นของอเมริกาที่ไม่เท่ากัน โอกาสในการประสบความสำเร็จไม่ได้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแพทย์ ทนายความ หรือ CEO ขององค์กรได้ มีเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรเท่านั้นที่จะได้รับปริญญาระดับวิทยาลัย คนบางคนต่อสู้กับการว่างงาน บางคนหันเหไปประกอบอาชญากรรมเพื่อหาทางร่ำรวย การมุ่งสู่ความสำเร็จแต่การถูกปฏิเสธเป้าหมายถือเป็นปัญหาร้ายแรงในการปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในสังคมระดับล่าง ในมุมมองของ Merton สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดแรงกดดันหรือความเครียดที่เกิดจากสังคมต่อบุคคล

สำหรับ Cloward และ Ohlin ความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายเริ่มต้นในช่วงวัยรุ่น สำหรับเยาวชนในเขตเมือง มองเห็นชีวิตที่ถูกจำกัดโอกาสและประสบความยากจน สังคมอเมริกันที่ปลูกฝังเรื่องความฝันที่พวกเขาไม่สามารถบรรลุได้ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความกดดันเพื่อประสบสำเร็จในชีวิต และรับมือกับความรู้สึกรุนแรงที่รุมเร้า เยาวชนเหล่านี้ปลดปล่อยความรู้สึกกดดันด้วยการรวมแก๊งที่กระทำผิด เพื่อเอาชนะแรงกดดันที่พวกเขาเผชิญ


Reference

Richard A. Cloward and Lloyd E. Ohlin (1960). Delinquency and opportunity: a theory of delinquent gangs. New York: The Free Press.

Related Post
ARTICLE

ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer)

ฆาตกรต่อเนื่องมีพฤติกรรมการไล่ล่าไม่ต่างจากปลาฉลาม ปลาฉลามไม่ได้โจมตีเหยื่อโดยบังเอิญ แต่จะสะกดรอยตามเหยื่อที่ซ่อนตัวอยู่ ฉลามจะพักคอยสังเกต

Read More »
ARTICLE

Mass murder ที่เป็น Serial killer และมีรสนิยม “ฆ่ายกครัว” (Anatoly Onoprienko)

ประเทศไทยได้เริ่มรู้จัก Mass murder กันหลายคดีตั้งแต่ปี 63 ถึงปัจจุบัน นับแต่จ่าคลั่งโคราชถึงนายสิบตำรวจอุทัยสวรรค์ สิ่งที่สร้างความเสียใจให้ทุกคน

Read More »