Institutional Anomie Theory

เหตุใดประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแห่งอภิสิทธิ์ เสรีภาพ และมีความเป็นปัจเจก จึงมีอาชญากรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ? 

ทฤษฎีการไร้กฎเกณฑ์ของสถาบันทางสังคม (Institutional Anomie Theory) พัฒนาขึ้นโดย Stephen F. Messner and Richard Rosenfeld ในงานเขียน Crime and the American Dream (1994) กล่าวว่า เสรีภาพและอภิสิทธิ์ ความปรารถนาร่ำรวย เพื่อบรรลุ Ametican dream หรือ ยึดติดกับวัตถุ (Materialism) มีส่วนทำให้เกิดอาชญากรรมในอเมริกา ดังประโยค “crime in America derives, in significant measure, from highly prized cultural and social conditions” (Messner & Rosenfeld, 2007, p.6) สภาพทางวัฒนธรรมและสังคมที่ชาวอเมริกันให้ความสำคัญ ได้ห่อหุ้มอุดมคติที่ปรารถนาจะเติมเต็มชีวิต นั่นคือ “the American Dream” กระบวนทัศน์นี้ประกอบด้วยค่านิยมพื้นฐานที่ชาวอเมริกันใช้เป็นสังคมทุนนิยม ซึ่งอันที่จริงแล้วส่งเสริมบรรยากาศที่ผิดปกติ นำไปสู่การขาดการควบคุมทางสังคมและพฤติกรรมเบี่ยงเบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จได้ (Adler & Laufer, 1995, p.7)

นอกจากนี้ การมุ่งเน้นที่เศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางในสังคมอเมริกันยังเน้นย้ำและลดคุณค่าที่มีอยู่ในสถาบันทางสังคมและให้ค่าฐะนะทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอำนาจในสถาบันทางสังคมและการควบคุมทางสังคมอ่อนแอลง ขณะเดียวกันจำนวนอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น (Adler & Laufer, 1995, p.161) ด้วยเหตุนี้ อาชญากรรมจึงฝังแน่นในวัฒนธรรมและรวมเข้ากับโครงสร้างหลักของสังคม

นิยามของ “American Dream” และผลกระทบต่ออาชญากรรม

American Dream หรือ “ความฝันแบบอเมริกัน” James Truslow Adams (1931) นักประวัติศาสตร์ ให้นิยามว่าหมายถึง “ความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรมในวงกว้างที่ผูกมัดกับเป้าหมายของความสำเร็จทางวัตถุ ที่ทุกคนในสังคมไล่ล่าปรารถนา ภายใต้เงื่อนไขของการแข่งขันแบบเปิดกว้างและเป็นรายบุคคล ” (Messner et al., 2007, p.6) โดยพื้นฐานแล้ว ด้วยอุดมคตินี้ พลเมืองอเมริกันแต่ละคนได้รับการชักจูงให้ปรารถนาถึงความสำเร็จในการร่ำรวย และเชื่อว่าถึงคนสามารถประสบความสำเร็จได้เพราะอเมริกาเป็นสถานที่แห่งโอกาสที่เท่าเทียมกัน ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย และสามารถเดินตามความฝันของเขาในเรื่องความมั่งคั่งทางวัตถุและความมั่นคงทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม หากการไล่ตามความฝันนี้เป็นจริงและเข้าถึงได้จริง ทำไมอัตราการเกิดอาชญากรรมในอเมริกาถึงสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรง ค่อนข้างจะสูงกว่าประเทศอื่น ในโลก (Adler & Laufer, 1995, p.159) โดยสรุป อุดมคติของ American Dream ได้บิดเบือนค่านิยมที่ชาวอเมริกัน โดยเน้นที่ความสำเร็จทางการเงิน และทำให้การแสวงหาความสุขทางวัตถุนิยม ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลและสับสน (anomic imbalance) ในสังคมอเมริกัน (Adler & Laufer, 1995, p.164)

ค่านิยม 4 ประการที่ก่อให้เกิดความไร้ระเบียบ (Anomie) ทางสังคม

ศัพท์ทางสังคมวิทยานิยามความหมายของ Anomie การล่มสลายของการควบคุมและบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดแนวโน้มของการมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและเกิดการถดถอยทางศีลธรรมในสังคม (Messner et al., 2007, p. 61) อเมริกามีบรรทัดฐานและค่านิยมแบบอเมริกันโดย ค่านิยมเหล่านั้นคือสิ่งที่ Messner and Rosenfeld กล่าวว่าเป็นรากฐานของสาเหตุที่ “ชาวอเมริกันต่อต้านการควบคุมทางสังคม จึงมีความเสี่ยงต่อการล่อลวงให้ประกอบอาชญากรรม” (Adler & Laufer, 1995, p.177) ด้วยเหตุนี้ ค่านิยมที่หล่อหลอมความแข็งแกร่งทางสังคมและวัฒนธรรมของพลเมืองอเมริกันกลับกลายเป็นแรงจูงใจของพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เพิ่มสูงขึ้น

ค่านิยม 4 ประการ มีดังต่อไปนี้: การมุ่งหมายสู่ความสำเร็จ (achievement orientation), ปัจเจกนิยม (individualism), สากลนิยม (universalism) และวัตถุนิยม (materialism) (Schoepfer, 2004, p.9) 

ประการแรก การมุ่งหมายสู่ความสำเร็จ (achievement orientation) วัฒนธรรมอเมริกันให้คุณค่าทางสังคมด้วยสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ คนอเมริกันมุ่งเน้นที่เป้าหมายสุดท้ายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจวิธีการที่ถูกต้องในการบรรลุเป้าหมายเสมอไป (Adler & Laufer, 1995, p.164) ด้วยเหตุนี้ คนบางคนจึงอาจเลือกใช้วิธีที่ผิดกฎหมายและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน

ประการที่สอง ปัจเจกนิยม (individualism) กล่าวคือ ในการแสวงหาคุณค่าทางสังคมหรือบรรลุความสำเร็จ บุคคลนั้นต้องบรรลุสิ่งนี้ด้วยตัวเขาเองมากกว่าที่จะร่วมมือกับผู้อื่น ซึ่งจะลดระดับการใช้วิธีการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีทรัพยากรจำกัด

ประการที่สาม สากลนิยม (universalism) ชาวอเมริกันทุกคนมีความเชื่อว่า ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการประสบความสำเร็จ (Schoepfer, 2004, p.9) ความเชื่อนี้จึงส่งผลให้คนอเมริกันมีความทะเยอะทะยานในการบรรลุเป้าหมาย นั่นคือ ความร่ำรวย

ประการสุดท้าย วัตถุนิยม (materialism) แสดงถึงเลนส์หรือมุมมองที่ชาวอเมริกันมองว่าการประสบความสำเร็จทำให้ได้มาซึ่งเงินทองหรือของมีค่า (Schoepfer, 2004, p.9)

ค่านิยมทางวัฒนธรรมทั้ง 4 นี้หล่อหลอมแนวความคิดของชาวอเมริกันในลักษณะที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ที่จะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ส่งผลให้จำนวนการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น (Adler & Laufer, 1995, p.159)

“ความไม่สมดุลของอำนาจในสถาบัน” ในสังคมทุนนิยม

นอกจากอิทธิพลของค่านิยมอเมริกัน 4 ประการ จะหล่อหลอมให้เกิดค่านิยมAmerican Dream และส่งผลให้การเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น แต่สังคมอเมริกันที่เน้นเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางของทุนนิยมสร้าง “ความไม่สมดุลของอำนาจในสถาบัน” (Bjerregaard et al. , 2008, p.33) ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของสถาบันทางสังคมอื่นที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอ่อนแอลง เนื่องจากการเน้นที่เศรษฐกิจในอเมริกามากเกินไป สถาบันทางสังคมที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น การศึกษา การเมือง และครอบครัวจึงบรรลุเป้าหมายหรือได้รับความสำคัญมากพอ ทั้งแบบรายบุคคลและแบบองค์รวม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการทางสังคม และความก้าวหน้า สถาบันเหล่านี้มุ่งเป้าไปทางเศรษฐกิจมากกว่าความจำเป็นสถาบันตนเอง (Adler & Laufer, 1995, p. 170) 

 


References

  1. Adler F., Laufer W. S. (Eds.), (6th ed.). (1995). The legacy of anomie theory. New Brunswick, NJ: Transaction Publishers. 
  2. Bjerregaard, B., Cochran, J.K.. (2008). A cross-national test of institutional anomie theory: do the strength of other social institutions mediate or moderate the effects of the economy on the rate of crime?. Western Criminology Review 9 (1), 31-48. 
  3. Messner, S. F., Rosenfeld, R. (2007). Crime and the american dream (4th ed.). Belmont, CA: Thomson Wadsworth. 
  4. Schoepfer, A. (2004). Exploring white collar crime and the american dream. Retrieved from http://etd.fcla.edu/UF/UFE0004604/schoepfer_a.pdf.
Related Post
ARTICLE

ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer)

ฆาตกรต่อเนื่องมีพฤติกรรมการไล่ล่าไม่ต่างจากปลาฉลาม ปลาฉลามไม่ได้โจมตีเหยื่อโดยบังเอิญ แต่จะสะกดรอยตามเหยื่อที่ซ่อนตัวอยู่ ฉลามจะพักคอยสังเกต

Read More »
ARTICLE

Mass murder ที่เป็น Serial killer และมีรสนิยม “ฆ่ายกครัว” (Anatoly Onoprienko)

ประเทศไทยได้เริ่มรู้จัก Mass murder กันหลายคดีตั้งแต่ปี 63 ถึงปัจจุบัน นับแต่จ่าคลั่งโคราชถึงนายสิบตำรวจอุทัยสวรรค์ สิ่งที่สร้างความเสียใจให้ทุกคน

Read More »