ในช่วงทศวรรษ 1980 Meda Chesney-Lind ได้กล่าวสรุปว่า เหตุใดทฤษฎีอาชญาวิทยาจึงไม่เพียงพอในการอธิบายเกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้หญิง โดยตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีต่าง ๆ เกิดจากการมองผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (Androcentric) โดยเน้นที่ประสบการณ์ของผู้ชาย ในปี 1988ผู้เขียนงานร่วมกัน Kathleen Daly และ Chesney-Lind โต้แย้งว่าการคิดในปัจจุบันไม่ได้ตระหนักถึงปัจจัยเฉพาะที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจประกอบอาชญากรรมแตกต่างจากผู้ชาย มีข้อโต้แย้งว่าเด็กผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ Chesney-Lind และ Lisa Pasko พบว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดทางอาญา โดยเฉพาะความผิดสำหรับเด็กและเยาวชนมากกว่าผู้ชาย
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ Chesney-Lind ได้พัฒนารูปแบบสตรีนิยม (Feminist Model) สำหรับการกระทำผิดของผู้หญิง เธอแย้งว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchal) หมายความว่า สังคมถูกครอบงำโดยผู้ชายและผู้หญิงถูกผลักไสให้อยู่ในสถานะชั้นรอง เนื่องจากการปกครองแบบปิตาธิปไตยนี้ทำให้สตรีตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไร้ซึ่งอำนาจ ผู้หญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อทั้งทางเพศและทางร่างกายมากขึ้น การตกเป็นเหยื่อและการไร้อำนาจในบริบทของสังคมปิตาธิปไตยนี้ทำให้วัยรุ่นเพศหญิงมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเข้าสู่การกระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกเป็นเหยื่อของเพศหญิงที่กระตุ้นให้เหยื่อกลายเป็นอาชญากร ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่แทงสามีจนเสียชีวิตเพราะทนทรมานจากการถูกทำร้ายร่างกายไม่ไหว นอกจากนี้ ระบบยุติธรรมเด็กและเยาวชนมีการปฏิบัติต่อการกระทำความผิดเพศหญิงแตกต่างจากเพศชาย ผู้หญิงมักถูกลงโทษรุนแรงกว่าเมื่อกระทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ (status offence) หากเปรียบเทียบกับฝ่ายชาย กระบวนการยุติธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการควบคุมทางสังคมเฉพาะสตรีอย่างเดียว หรือแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มุ่งเป้าทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่เพิ่มขึ้นจากอำนาจปิตาธิปไตย (Chesney-Lind, 1989)
ความสำคัญของการศึกษาการกระทำความผิดของผู้หญิง
เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญทฤษฎีของ Chesney-Lind จำเป็นต้องเข้าใจความคิดสตรีนิยมและความไม่ครอบคลุมของทฤษฎีอาชญาวิทยากระแสหลัก ความคิดสตรีนิยมนำเสนอแนวคิดที่ว่า เพศมีผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมทุกด้าน ทุกความสัมพันธ์ทางสังคมและทุกโครงสร้างทางสังคมได้รับผลกระทบจากการรับรู้ของชายและหญิง เนื่องจากอาชญากรรมเป็นโครงสร้างทางสังคม นักวิจัยสตรีนิยมจึงยืนยันว่าเพศมีผลกระทบต่ออาชญากรรม (Chesney-Lind & Pasko, 2004)
นักสตรีนิยมยืนยันว่าผู้หญิงได้รับความเสียเปรียบในเรื่องเพศสภาพ เนื่องจากผู้หญิงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายและศักยภาพในชีวิตทั้งหมดได้เนื่องจากการเลือกปฏิบัติและอคติ นอกจากนี้ เพื่อให้มีความเท่าเทียมกัน สังคมจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสตรี (Delmar, 1986)
ในยุคก่อน นักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อการศึกษากระทำผิดผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายก่ออาชญากรรมมากกว่าผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม Chesney-Lind และ Pasko ได้นำเสนอข้อมูล 3 ประการ ที่สนับสนุนข้อโต้แย้งว่า นักอาชญาวิทยาต้องศึกษาอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยผู้หญิงแยกจากอาชญากรรมชาย
ประการแรก อาชญากรรมของผู้หญิงเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าอาชญากรรมของผู้ชาย
ประการที่สอง ผู้กระทำผิดหญิงและชายกระทำความผิดในอาชญากรรมที่แตกต่างกัน
ประการที่สาม การลงโทษสำหรับการกระทำผิดของเยาวชนชายและหญิงนั้นไม่ยุติธรรม
Chesney-Lind โต้แย้งว่าอาชญากรรมชายและหญิงกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุม การดำเนินคดี และการกักขังผู้หญิงได้เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 อัตราของผู้หญิงได้เพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าของอัตราของผู้ชาย นอกจากนี้ Chesney-Lind และPasko โต้แย้งว่า การเพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมทางอาญาของผู้หญิงได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างจากเพศชาย ทำให้จำเป็นต้องศึกษาทั้งเพศหญิงและเพศชายแยกกัน
ใน “Girls in Jail” Chesney-Lind ระบุว่าเด็กผู้หญิงก่ออาชญากรรมที่แตกต่างจากเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรง รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (status offence) มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การหนีโรงเรียนหรือการละทิ้งหน้าที่ จากการวิเคราะห์ข้อมูล Chesney-Lind เชื่อว่าเด็กผู้หญิงจำนวนร้อยละ 46 ก่อความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (status offence) เช่น ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว การดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในทางตรงกันข้าม พบว่าประมาณจำนวนร้อยละ 2 ของเด็กผู้หญิงถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรมรุนแรง ในขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะถูกจับในข้อหาก่ออาชญากรรมเหล่านี้มากกว่า 5 เท่า ข้อมูลเหล่านี้หมายความว่าเด็กผู้หญิงก่ออาชญากรรมร้ายแรงน้อยกว่าผู้ชาย จึงสันนิษฐานได้ว่าเพศชายและเพศหญิงก่ออาชญากรรมที่แตกต่างกัน
นอกจากผู้หญิงก่ออาชญากรรมที่แตกต่างจากผู้ชายแล้ว เด็กและเยาวชนหญิงยังถูกลงโทษแตกต่างกันไปเมื่อเทียบกับผู้ชาย เด็กหญิงถูกจำคุกในความผิดทางพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (status offence) ในอัตราที่สูงกว่าเพศชาย
Feminist Model of Female Delinquency
สำหรับอาชญาวิทยาสตรีนิยมของ Chesney-Lind พยายามที่จะพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้หญิง ซึ่งแนวคิดได้นำเสนอในบทความปี 1989 เรื่อง “Girls’ Crime and a Woman’s Place ” เริ่มด้วยการโต้เถียงว่าทฤษฎีอาชญาวิทยาในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะอธิบายการก่ออาชญากรรมของผู้หญิง จึงนำเสนอหลักการเกี่ยวกับการกระทำผิดของสตรี โมเดลของแนวคิดสตรีนิยมตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการกระทำผิดของผู้หญิงต้องได้รับการตรวจสอบในบริบทของสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้หญิงต้องเผชิญ กล่าวคือ สถานภาพหรือฐานะทางสังคมของผู้หญิงมีความสำคัญยิ่งต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมที่ถูกละเมิด
Chesney-Lind ระบุสาเหตุเริ่มต้นที่นำไปสู่การกระทำผิดของผู้หญิง ซึ่งเร่ิมต้นจากการที่เด็กและเยาวชนหญิงมีความขัดแย้งกับผู้ปกครอง ความขัดแย้งนี้เป็นผลมาจากสังคมปิตาธิปไตย เด็กผู้หญิงถูกควบคุมและจับตาดูอย่างใกล้ชิดมากกว่าเด็กผู้ชาย ความตึงเครียดบางอย่างจึงเกิดขึ้นจากการควบคุมของผู้ปกครอง ในส่วนความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากการยอมจำนนต่อผู้ชาย ได้แก่ การถูกล่วงละเมิดทางร่างกายและทางเพศ
การทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศนำไปสู่ความบอบช้ำในวัยเยาว์ การบาดเจ็บมีลักษณะเฉพาะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น ภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และการหลีกหนีสังคม พฤติกรรมเหล่านี้เป็นกลไกในการรับมือของเด็กผู้หญิงที่บาดเจ็บทางจิตใจ ผู้หญิงที่ก่ออาชญากรรมมักจะหนีออกจากบ้านเพื่อจัดการกับความบอบช้ำในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กผู้หญิงที่หนีออกจากบ้านเนื่องจากมีการทารุณกรรมเกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะการใช้อำนาจของผู้ชายในครอบครัว
กระบวนการยุติธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคมของสตรี ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การกดขี่ข่มเหงสตรีโดยอาศัยอำนาจแบบปิตาธิปไตย ตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงอาจถูกพ่อหรือพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางร่างกายและทางเพศ เป็นผลให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งอาจกลายเป็นคนหลีกหนีสังคมและมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายเพื่อเอาชีวิตรอดเมื่ออยู่ห่างจากบ้าน เด็กผู้หญิงบางคนกลายเป็นผู้ลักทรัพย์ ขายบริการทางเพศแลกกับเงิน และใช้ยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองเองอาจยืมมือกระบวนการยุติธรรมในการใช้เป็นกลไกบังคับให้เด็กผู้หญิงคนนั้นกลับบ้าน และเธอต้องกลับไปเจอสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยถูกละเมิด
โดยสรุป Chesney-Lind เสนอว่าผู้หญิงอยู่ภายใต้สังคมปิตาธิปไตย ที่อาศัยในครอบครัวทำให้ต้องตกเป็นเหยื่อทางร่างกายและทางเพศจากผู้มีอำนาจที่เป็นเพศชาย การหลบหนีจากการทารุณกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นผู้หลบหนีสังคม โดยหันเหไปมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่จะกระทำความผิดเพื่อรับมือกับความบอบช้ำจากการทารุณกรรมและเพื่อเอาชีวิตรอดกลายเป็นอาชญากรในที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจผิดในมุมมองของทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวสตรีนิยม
ประการแรก สตรีนิยมถูกมองว่าลำเอียงด้วยอคติ นักวิจารณ์ยืนยันว่าแนวคิดสตรีนิยมมีอคติในการอ้างว่าเรื่องเพศมีความสำคัญ Daly และ Chesney-Lind ตอบว่าในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นเขียนขึ้นจากมุมมองของผู้ชายเสมอ ดังนั้น เป้าหมายของสตรีนิยม คือทบทวนทฤษฎีก่อนหน้านี้อีกครั้งโดยคำนึงถึงผู้หญิงและการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียม
ประการที่สอง นักสตรีนิยมถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการเพิกเฉยต่อผู้ชาย Daly และ Chesney-Lind โต้แย้งว่าการศึกษาทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมอาชญากร ดังนั้น ทฤษฎีสตรีนิยมยังคงพยายามอธิบายความผิดทางอาญาของผู้ชายควบคู่กันไป เพื่อเปรียบเทียบตัวแปรเรื่องเพศกับการประกอบอาชญากรรม
ประการที่สาม การวิจัยจากแนวคิดสตรีนิยมถูกมองว่าเป็นเอกภาพ นักวิจารณ์อ้างว่านักวิชาการสตรีนิยมนำเสนอภาพผู้หญิงเพียงภาพเดียวและพยายามเปลี่ยนนโยบายทางสังคมและทฤษฎีทางสังคมด้วยวิธีแคบๆ แต่ Daly และ Chesney-Lind โต้แย้งว่างานวิจัยทางวิชาการจากแนวคิดสตรีนิยมนั้นมีความหลากหลายและครอบคลุมหลายมุมมองเกี่ยวกับอาชญากรรม โดยแต่ละมุมมองมีสมมติฐานและโครงสร้างที่น่าสนใจแตกต่างกัน เช่นเดียวกับอาชญาวิทยากระแสหลัก
References
Belknap, J. and Chesney-Lind, M. (2004). The mother of feminist criminology . Women and Criminal Justice, 15, pp.1–23.
Bloom, B., Owen, B. and Covington, S. (2003). Gender responsive strategies: Research, practice, and guiding principles for women offenders . Washington, DC: National Institute of Corrections.
Chesney-Lind, M. Girls in jail . Crime and Delinquency, 34, pp.150–168.
Chesney-Lind, M. (1989). Girls’ crime and a woman’s place: Toward a feminist model of female delinquency . Crime and Delinquency, 35, pp.5–29.
Chesney-Lind, M. (2006). Patriarchy, crime, and justice: Feminist criminology in an era of backlash. Feminist Criminology, 1, pp.6–26.
Chesney-Lind, M. and Pasko, L. (2004). The female offender: Girls, women, and crime . London: Sage.
Daly, K. and Chesney-Lind, M. (1988). Feminism and criminology . Justice Quarterly, 38, pp.497– 538.
Delmar, R. (1986). What is feminism . In J. Mitchell, ed. , & A. Oakley (Eds.), What is feminism? pp. 8–33. New York: Pantheon.