Radical Theory
อาชญาวิทยาแนวรุนแรง (Radical Criminology) มีรากฐานมาจากแนวคิดของ Marxist โดยทฤษฎีนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงคราม การประท้วงของนักศึกษาและชนกลุ่มน้อยทำให้นักสังคมวิทยาและนักอาชญาวิทยามองหาคำอธิบายสถานการณ์ความไม่สงบทางสังคมและการเมืองในอเมริกา นอกจากนี้ ขณะนั้นยังเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาทางเชื้อชาติและสงครามเวียดนามส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐ รวมทั้งการจลาจลและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ รัฐบาล นักวิจัย และนักวิชาการต่างหาทางตอบโต้และควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงได้นำแนวคิดทางอุดมการณ์มาสู่อาชญาวิทยา โดยเปลี่ยนจุดสนใจจากความรับผิดชอบส่วนบุคคลในอาชญากรรมและมุ่งสู่ประเด็นทางสังคมโดยรวม อาชญาวิทยาแนวรุนแรง บางครั้งเรียกว่า Marxist, Conflict, or Critical Criminology มุมมองเชิงอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ในช่วงปีแรก ๆ ของอาชญาวิทยาแนวรุนแรง เป็นรากฐานสำหรับนักอาชญาวิทยาที่สนใจในอนาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สตรีนิยม รัฐธรรมนูญ วัฒนธรรม การสร้างสันติภาพ การฟื้นฟู และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Critical Criminology นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงหรือนักอาชญาวิทยาแนววิพากษ์ทุกสาขามีแนวคิดและหลักการร่วมกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การกระจายอำนาจและวิธีการที่กฎหมายคุ้มครองผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตามหลักการของ Marxist ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่โต้แย้งว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมทุนนิยมออกกฎหมายเพื่อใช้อำนาจควบคุมชนชั้นล่าง นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงหรือนักอาชญาวิทยาแนววิพากษ์หลายคนมีบทบาททางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยทั่วไปยึดหลักการของ Marxist แม้ว่า Marx จะไม่ได้กล่าวถึงอาชญากรรมโดยเฉพาะ แต่งานเขียนของเขาเน้นไปที่กฎหมาย อำนาจ และการควบคุมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบอาชญากรรมและความยุติธรรม นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงโต้แย้งว่า ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายสนองความต้องการส่วนตนโดยการกำหนดนโยบายสาธารณะ แทนที่จะกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ นักอาชญาวิทยาแนวรุนแรงมองว่า กฎหมายเป็นชุดกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดเพื่อบังคับใช้ และระบบยุติธรรมทางอาญาก็พยายามที่จะทำให้ผู้ต่อต้านเป็นกลาง โดยพุ่งเป้าไปที่การกระทำของผู้ที่ถูกกดขี่มากที่สุด นอกจากนี้ กฎหมายเหล่านี้ยังสร้างลำดับชั้นเพื่อสนองผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ กล่าวถือ กระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายกับกลุ่มสังคมต่างๆ แตกต่างกัน กรรมกรและชนกลุ่มน้อยถูกกฎหมายตีกรอบให้เป็นอาชญากร ในขณะที่ผู้มีอำนาจและคนรวยกลับถูกละเลยอยู่เหนือกฎหมาย […]