Collective Efficacy Theory

คำว่า ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดครั้งแรกโดย Bandura (1982, 1986) การพิจารณาแนวคิดในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มในกลุ่มขนาดใหญ่มาก เช่น ประชาชาติและขบวนการทางสังคม ต่อมาช่วง 1990s แนวคิดทางสังคมศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อ Sampson (2006) นำแนวคิดนี้ไปใช้กับการศึกษาย่านชุมชนใน Chicago การศึกษาของเขาได้สรุปแนวคิดว่า “ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มเป็นคุณสมบัติของชุมชนที่อาจสามารถช่วยล้อาชญากรรมความรุนแรงได้”  ทฤษฎีประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy Theory) เป็นกระบวนการของการกระตุ้นหรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่ผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เช่น ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเพื่อควบคุมอาชญากรรม ในอาชญาวิทยา คำว่า Collective Efficacy หมายถึง ความสามารถของสมาชิกในชุมชนในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มในชุมชน การควบคุมพฤติกรรมของผู้คนช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย Collective Efficacy เกี่ยวข้องกับผู้อยู่อาศัยในการตรวจสอบเด็กหรือเยาวชนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เพื่อร่วมกันเป็นหูเป็นตา ป้องกันพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่อาจเกิดในเยาวชน แนวคิดของ Collective Efficacy ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายว่าทำไมย่านเมืองจึงมีปริมาณอาชญากรรมที่เกิดขึ้นแตกต่างจากละแวกใกล้เคียง จะพบว่าในเขตเมืองที่เพื่อนบ้านเฝ้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มและเต็มใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการทะเลาะวิวาทหรือป้องกันความวุ่นวาย อาชญากรรมรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า เพื่อสร้างประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มในชุมชน สมาชิกจะต้องมีความรู้สึกไว้วางใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ดีต่อกัน ในชุมชนที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจ หรือเกรงกลัวซึ่งกันและกัน ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสน้อยที่จะทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมดูแลพฤติกรรมของบุคคลในชุมชน ในทางกลับกัน ในชุมชนที่ผู้คนไว้วางใจกันมากและเต็มใจให้ความร่วมมือมากกว่ามีแนวโน้มที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้มากกว่า กล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม ทำให้สมาชิกในชุมชนรู้สึกผูกพันกันอย่างมาก ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม (Collective Efficacy) ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่สมาชิกในชุมชนใช้หรือกำหนดร่วมกัน หากสมาชิกในชุมชนไว้วางใจซึ่งกันและกันและเต็มใจที่จะร่วมมือกันเพื่อป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรม มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ปลอดภัยได้ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของการรวมกลุ่ม ยังรวมถึงพฤติกรรม บรรทัดฐาน และการกระทำที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่กำหนดใช้เพื่อบรรลุความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ นักสังคมวิทยาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า กลไกที่ไม่เป็นทางการ (informal […]