Space Transitional Theory
ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ (Space Transitional Theory) ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชื่อ “Crimes of the Internet” ในปี 2008 โดย K. Jaishankar ทฤษฎีนี้เป็นหนึ่งทฤษฎีอาชญาวิทยาที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดในการอธิบายอาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) ทฤษฎีนี้มองว่าการเกิดขึ้นของพื้นที่โลกออนไลน์ เป็นสถานที่ใหม่ของแหล่งเกิดอาชญากรรม และใช้อธิบายสาเหตุของอาชญากรรมในพื้นที่โลกออนไลน์ โลกปัจจุบันเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักสังคมวิทยาท่านใดที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์โดยรวมของอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับ Jaishankar “ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ อธิบายธรรมชาติของพฤติกรรมบุคคลที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกันในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงและในพื้นที่โลกออนไลน์ การเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของบุคคลจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น จากพื้นที่ของโลกความเป็นจริงไปยังโลกไซเบอร์ ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ โต้แย้งว่า ผู้คนมีพฤติกรรมแตกต่างกันเมื่อพวกเขาย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง” อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้มีการตรวจสอบเชิงประจักษ์หลายครั้งเพื่อทดสอบประโยชน์ของทฤษฎีนี้ นักวิชาการบางคนชื่นชมข้อมูลเชิงลึกของ Jaishankar ในการรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ในขณะที่คนอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อเสนอบางอย่างในทฤษฎีของเขาค่อนข้างยากที่จะทดสอบ และอาจใช้อธิบายกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้บางรูปแบบเท่านั้น ข้อเสนอของทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเชิงพื้นที่ 1.บุคคลที่พยายามเก็บกดพฤติกรรมอาชญากรไว้ในชีวิตจริง (ในพื้นที่ของโลกความเป็นจริง) มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ เนื่องจากไม่สามารถกระทำในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงได้ อาจเนื่องจากสถานะและตำแหน่งในสังคม ข้อเสนอนี้ Jaishankar อธิบายว่า บุคคลจะรู้สึกผิดในระดับที่แตกต่างกันไปจากการมีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยทั่วไปบุคคลจะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางสังคมและในการตัดสินใจกระทำผิด ของบุคคลจะคำนวณความเสี่ยงทางสังคมและประโยชน์จากการเป็นอาชญากร กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนที่มีความรู้สึกผิดอาจไม่ยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นอาชญากร ถ้าผลของการกระทำผิดมีผลเสียต่อสถานะทางสังคมและเกิดความอับอาย อย่างไรก็ตาม Jaishankar ตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มของบุคคลที่จะประพฤติในลักษณะนี้พบความเกี่ยวข้องในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงเท่านั้น หากบุคคลเดียวกันย้ายไปอยู่ในโลกไซเบอร์ พวกเขาจะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางสังคมน้อยลง คล้ายกับการซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากาก อาชญากรในโนโลกออนไลน์ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเผชิญความอับอายขายหน้าในสังคม เพราะไม่มีใครสามารถระบุตัวตนที่แท้จริงได้ Jaishankar กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่าพฤติกรรมที่ถูกกดขี่ ในข้อเสนอของเขาไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายใด ๆ ที่ถูกกดขี่ตั้งแต่วัยเด็ก แต่แสดงถึงแรงจูงใจซ่อนเร้นของบุคคลที่ไม่สามารถแสดงออกในพื้นที่ของโลกความเป็นจริงเนื่องจากสถานะและตำแหน่งในสังคม […]